Home » ทำความรู้จัก ภาวะฝืนทำงาน จนทำลายสุขภาพจิตของคุณ

ทำความรู้จัก ภาวะฝืนทำงาน จนทำลายสุขภาพจิตของคุณ

by admin
10 views

10 กันยายน 2567

รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมการทำงานสามารถบ่งบอกถึงสุขภาวะทางจิตของบุคคลได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสูง ยิ่งทำงานมากเกินไป ไม่กล้าลาหยุดแม้ในขณะที่เจ็บป่วย หรืออดทนทำงานจนร่างกายและจิตใจเข้าสู่ภาวะฝืนทำงาน

การฝืนทำงานขณะเจ็บป่วยโดยไม่ใช้วันลา เรียกว่า “Presenteeism” ซึ่งเป็นพฤติกรรมการทำงานที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและอาจเกิดความผิดพลาดบ่อยขึ้น การมาทำงานทั้งที่ไม่พร้อม เช่น การป่วยหรือบาดเจ็บ ไม่เพียงแต่ลดคุณภาพของงาน แต่ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่องค์กรมากกว่าการขาดงานบ่อยครั้ง

วัยทำงาน กลุ่มเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต

จากข้อมูลของสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปีได้โทรเข้ามาขอรับบริการเกี่ยวกับความเครียด ความวิตกกังวล และการขาดความสุขในการทำงานมากถึง 6,337 สาย คิดเป็นอันดับ 1 ของการขอคำปรึกษาทั้งหมด 8,528 สาย ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนในการหาวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างชัดเจน

จากการสำรวจสุขภาวะของวัยทำงาน พบว่า 42.7% ของพนักงานมีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุหลัก ได้แก่

  1. ความรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถทำงานแทนได้
  2. การต้องรับมือกับงานด่วน
  3. ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการประเมินผลงาน
  4. ปัญหาด้านการเงินที่เป็นภาระ
  5. ความรู้สึกว่ายังทำงานไหว และไม่มีความจำเป็นต้องหยุดพัก

กลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี เป็นกำลังสำคัญที่ต้องรับภาระหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลผู้ใหญ่ ครอบครัว ผู้สูงอายุ และเด็ก จากการสำรวจพนักงานจำนวน 200 คน พบว่า 49.1% ของพนักงานอยู่ในภาวะที่ต้องฝืนทำงาน แม้ว่าจะรู้สึกไม่สบายใจหรือมีปัญหาสุขภาพจิตชัดเจน แต่ยังคงต้องไปทำงาน เนื่องจากความจำเป็นทางด้านการงานและเศรษฐกิจ การทำงานส่วนใหญ่เป็นการทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์

จากการสำรวจยังพบว่า พนักงานต้องการนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจที่ดีในที่ทำงาน โดยเน้น 6 ด้านหลัก ได้แก่

  1. เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและจิตใจ 41.7%
  2. อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 16.7%
  3. เพิ่มสวัสดิการและนโยบายการลาและการพักผ่อน 13.1%
  4. ส่งเสริมการสื่อสารและรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน 11.3%
  5. สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและเสริมสร้างความเท่าเทียม ไม่กดดัน 10.1%
  6. เพิ่มสวัสดิการทางการเงินหรือค่าตอบแทน เช่น อาหารและโบนัส 6.0%

เข้าใจพฤติกรรมการทำงานขณะร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือ ภาวะฝืนทำงาน

การฝืนทำงานหรือการทำงานในสภาวะที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ (Presenteeism) เป็นปัญหาที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักในประเทศไทย แม้ว่าพฤติกรรมนี้จะพบได้ทั่วไปในทุกที่ทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอ ภาวะฝืนทำงานนี้มีลักษณะตรงข้ามกับการขาดงานเป็นประจำ (Absenteeism) ที่มักถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนและสามารถสังเกตได้ง่ายกว่า

การทำงานในภาวะที่ร่างกายไม่พร้อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พฤติกรรมนี้ยากต่อการตรวจจับเนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกหรือสังเกตได้อย่างชัดเจนเหมือนการขาดงาน แต่ผลกระทบของการทำงานในสภาวะไม่สมบูรณ์นี้อาจรุนแรงกว่า โดยอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน คุณภาพของงานลดลง และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพสูงขึ้นกว่าการขาดงานเป็นประจำถึง 5 เท่า เนื่องจากต้องใช้เวลารักษาโรคเรื้อรังที่ไม่หายเสียที

ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบของพฤติกรรมการฝืนทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในที่ทำงานและผู้บริหาร เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

อาการที่พบได้จากภาวะฝืนทำงาน

การฝืนทำงานในขณะที่ร่างกายไม่สมบูรณ์หรือมีความเจ็บป่วยเป็นพฤติกรรมที่สามารถส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและพฤติกรรม ดังนี้

  1. ด้านเศรษฐกิจ : ผลผลิตจากการทำงานจะลดลง และประสิทธิภาพการทำงานจะต่ำลง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อเจ็บป่วย
  2. ด้านพฤติกรรม : การไปทำงานทั้งที่ควรหยุดงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วย เป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพจิตและร่างกาย

ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการวินิจฉัยที่เป็นทางการสำหรับภาวะ Presenteeism แต่เครื่องมือที่นิยมใช้กัน คือ “The Stanford Presenteeism Scale” ซึ่งใช้ในการวิจัยเพื่อสอบถามถึงการมาทำงานขณะที่เจ็บป่วย ภาวะนี้ไม่ใช่โรค ดังนั้น จึงไม่ได้ถูกระบุในระบบ ICD-10 และ DSM-V

3.ทำความรู้จัก ภาวะฝืนทำงาน จนทำลายสุขภาพจิตของคุณ

สาเหตุของภาวะฝืนทำงาน

  1. อาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน : เช่น หวัด ภูมิแพ้ อาหารเป็นพิษ หรือโรคกระเพาะ
  2. โรคที่เป็นซ้ำๆ : เช่น ภูมิแพ้ แพ้อากาศ
  3. โรคเรื้อรัง : เช่น ข้ออักเสบ ปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อ อาการทางสุขภาพจิต หรืออาการนอนไม่หลับ
  4. ปัจจัยด้านวิถีชีวิต : เช่น ปัญหาการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่

การหยุดงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางจิตมักถูกพิจารณาว่า น้อยกว่าการหยุดงานจากอาการเจ็บป่วยทางกาย จึงส่งผลให้เกิดการฝืนทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่มักพบในผู้ที่มีภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่ไม่แสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับอาการเจ็บป่วยทางกาย

ปัญหาที่เกิดจากการทำงานอาจเป็นสาเหตุของ ภาวะฝืนทำงาน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีส่วนในการกระตุ้นพฤติกรรมการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ของร่างกายเช่นความไม่มั่นคงในการทำงานสำหรับลูกจ้างชั่วคราวหรือผู้ที่ยังไม่ผ่านการทดลองงานรวมถึงการขาดทางเลือกในการหางานที่ดีกว่านอกจากนี้หากพนักงานหยุดงานจะไม่ได้รับเงินชดเชยแม้ในกรณีที่ป่วยจริงยิ่งไปกว่านั้นปัจจัยอื่นๆเช่นอายุของพนักงานยังมีส่วนในการไม่ใช้สิทธิ์การลาป่วยที่ได้รับค่าจ้างซึ่งอาจทำให้การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในอนาคตรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ การใช้ตัวชี้วัดในการทำงานที่เน้นการนับจำนวนวันทำงานสูงสุดก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพการทำงานได้ แต่กลับส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมฝืนทำงานมากขึ้น การหักเงินเมื่อลาหยุดบ่อยหรือการทำงานในวันหยุดราชการและทำงานหนักเกินไปก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน

2.ทำความรู้จัก ภาวะฝืนทำงาน จนทำลายสุขภาพจิตของคุณ

ลักษณะงานที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์และใช้ความสามารถสูง ได้แก่

  • ใช้ความสามารถสูง
  • งานหนัก
  • ทำงานแข่งกับเวลา
  • งานกะ (งานแบบแบ่งกะเวลาทำงาน)
  • งานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • งานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
  • งานมีความเสี่ยง
  • งานที่มีความเครียดสูง

นอกจากนี้ ผู้ที่มีนิสัยติดการทำงานหรือทุ่มเทเกินไป อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่ฝืนความสามารถหรือภาวะฝืนทำงานที่มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โดยบุคคลในสภาวะนี้จะมีความสุขในการทำงานลดลง ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง และสำหรับคนที่ไม่สามารถปฏิเสธงานได้ แม้ตนเองจะป่วย ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการฝืนมาทำงาน

ในกลุ่มลูกจ้างที่มีอาการป่วยเรื้อรัง การรู้จักประเมินสภาพร่างกายและตัดสินใจลางานเมื่อจำเป็น สามารถช่วยลดการฝืนทำงานในขณะที่ร่างกายไม่พร้อมได้

ปัญหาพฤติกรรมการทำงานขณะร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือการอยู่ในภาวะฝืนทำงานอาจไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป เนื่องจากเกณฑ์ชี้วัดหายากและไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่สำหรับลักษณะงานที่มีความจำเพาะและหาแรงงานมาทดแทนได้ยาก เช่น แพทย์ ครู หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ควรมีการดูแลด้านอาชีวอนามัยอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในแต่ละหน่วยงาน เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการพักผ่อนและลดโอกาสการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานในอนาคต

แหล่งที่มา : https://www.amarintv.com/article/detail/69052

ติดต่อ

หากคุณสนใจบริการของเรา หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงเว็บไซต์ของคุณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

@2024 – All Right Reserved. Designed and Developed by ppegood